วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

ออกแบบบ้านงานที่คนจ้างหาว่าแค่กระดาษไม่กี่ใบ 1

http://3d-floor-plan.blogspot.com


ขึ้นหัวข้อมาก็ออกแนวน้อยอกน้อยใจนิดๆนะครับ  แต่มันก็เป็นเรื่องจริงที่ผู้ออกแบบไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกคนใดก็คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียวกับคำพูดของลูกค้าที่บางครั้งจะมองว่าเป็นแบบหัวข้อนี้อยู่บ่อยๆ  สำหรับคนที่ไม่เคยเจอก็ดีไปครับถือซะว่าเป็นบทความอ่านไว้ใช่ว่าแล้วกันนะครับ



จริงๆบทความนี้จะเล่าบอกผู้ที่กำลังมีความสามารถที่จะ มีบ้านสักหลังโดยที่พอจะว่าจ้างคนออกแบบให้ในพื้นที่ที่ตัวเองมีอยู่  เพื่อให้เข้าใจกับผู้รับจ้างออกแบบว่ากว่าจะมาเป็นบ้านสักหลังหนึ่งมันไม่ได้ใช้ปั๊มตรายางจุ่มหมึกแล้วทุบปึ้งลงกระดาษครับ  แต่การออกแบบบ้านสักหลังนั้นมันยุ่งยากยุ่งเหยิง  และต้องพินิจพิเคระห์สิ่งละอันพันละน้อยนานับประการกว่าจะออกมาทั้งให้พอใจผู้จ้างและเข้าหลักการออกแบบที่ดี

เกริ่นนานไปไร้สาระมาเข้าเรื่องกันเลยดีว่าครับ  สำหรับการออกแบบบ้านนั้นโดยส่วนใหญ่ลูกค้าที่ว่าจ้างนั้นมักจะมีความชอบในความสวยหรือมีแบบบ้านในใจที่อยากได้อยู่แล้วเพียงแต่การเล่าสิ่งที่อยากได้ให้ผู้ออกแบบฟังนั้นมันจะไปตรงกับจินตนาการของผู้รับออกแบบไหมนั่นแหละคือหัวใจของมัน มันคือการสื่อสารนั่นเองครับสำคัญจริงๆ  บางทีเองผู้ออกแบบก็มักจะบ่นๆว่าลูกค้าเรื่องมากอย่างนั้นอย่างนี้  ส่วนลูกค้าก็ชอบบ่นว่าผู้ออกแบบมายังเกินยังขาดตรงนั้นตรงนี้  หรืออยากให้เพิ่มตรงนั้นตรงนี้อีกหน่อย  นี่แหละครับความไม่พอไม่เท่าของคน  จริงๆแล้วปัญหาเหล่านี้มันขจัดออกได้ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นของการสื่อสารกันครับ  ผมจึงขอแนะนำข้อมูลการสนทนาหรือหาข้อตกลงโดยของแบ่งออกเป็นสองส่วนคือผู้ว่าจ้างและผู้ออกแบบแล้วกันนะครับ  ข้องมูลต่อไปนี้มาจากประสบการณ์การทำงานแล้ววิเคราะห์รวบรวมมาเล่านะครับไม่ได้อ้่้างอิงจากหนังสือหรือเอกสารอื่นใด  ก็คงยังมีความผิดพลาดและคลาดเคลื่อนได้เป็นธรรมดานะครับ

การเตรียมตัวของผู้ว่าจ้าง(เจ้าของบ้าน)
1  สรุปงบประมาณของตัวเองในการก่อสร้างและออกแบบ  โดยส่วนใหญ่การประเมินงบเหล่านี้ส่วนมากจะไปขอกู้งบจากธนาคารแต่ผมมองว่าถ้าผู้ว่าจ้าง  มีข้อมูลและประเมินราคางานเองได้นั่นจะทำให้การจัดสรรเงินและการดำเนินงานทุกส่วนดำเนินไปอย่างรวดเร็วครับ  สำหรับการออกแบบแล้วราคาค่าการออกแบบนั้นเขาจะคิดจากเปอร์เซ็นต์ของราคาค่าก่อสร้างครับ  เช่น  5%  จากงานที่มีขนาดเล็กมากเช่นบ้านพักอาศัย  3.5% จากอาคารขนาดกลาง  2.5% จากอาคารขนาดใหญ่เป็นต้น  ดังนั้นการสนทนา นั้นผู้ออกแบบจึงจำเป็นต้องทราบงบประมาณคร่าวๆในการก่อสร้างเพราะจะได้เลือกสรรวัสดุที่ใช้ให้เหมาะสมกับงานหรือเลือกการออกแบบที่พอสร้างได้นั่นเองไม่ใช่เพื่อราคาค่าจ้างนะครับ

2  บอกความชอบส่วนตัวงานอดิเรกของทั้งตนและคนที่พักอาศัย  เพราะจะทำให้การออกแบบสอดรับการใช้ชีวิตภายในบ้านของผู้อาศัยมากที่สุด  และคุณก็จะได้บ้านที่อยู่แล้วถูกใจอยู่แล้วใช่ สะดวกสบายในการใช้งานครับ  เช่นชอบวาดภาพ  ชอบเลี้ยงปลา  ชอบปลูกต้นไม้  ชอบออกกำลังกาย  ชอบดูหนังเป็นต้น  เพราะผู้ออกแบบนั้นส่วนมากจะถูกสอนมาให้เลือกสรร  และจัดวางพื้นที่ใช้สอยสอดรับกับการอยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยแล้วดังนั้นข้อมูลเหล่านี้สำคัญมากต่อการออกแบบครับ

3  มองหาภาพตัวอย่างของห้องหรือพื้นที่ที่ตัวเองชอบหรืออยากได้มาเป็นไกด์ไลน์ให้ผู้ออกแบบ  อันนี้บางครั้งบางคนที่เป็นผู้ออกแบบบอกว่าไม่จำเป็นเดี๋ยวทางเขาจะจัดมาให้เอง  แต่ผมว่าจำเป็นครับเพราะเมื่อเห็นภาพผู้ออกแบบก็ไม่ต้องจินตนาการไปเองเพราะคุณออกแบบไม่ได้มาอยู่กับเขา  ดังนั้นควรมีภาพเหล่านี้ที่เราชอบไปให้เาดูด้วยจะเป็นการดีและง่ายต่อการทำงานแถมยังได้ของถูกใจด้วยนะครับ  ใครยังไม่ลองผมแนะนำให้ลองดูครับ

4  เตรียมข้อมูลของพื้นที่ก่อสร้างให้พร้อม   เพราะการออกแบบนั้นไม่ใช่ออกแบบมาตามใจฉันอย่างเดียวครับมันต้องมีกรรมวิธีที่จะต้องไปดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างอีกมากมาย  ซึ่งอาคารที่ก่อสร้างที่จะมีขึ้นนั้นจะต้องไม่ผิดข้อบังคับข้อห้ามของทางพื้นที่เขตก่อสร้างนั้นๆซึ่งผู้ออกแบบเขาจะรู้ดีว่าเขาห้ามอะไรไว้มั่งดังนั้นหากผู้ว่าจ้างไม่เข้าใจว่าทำไมทำอย่างนี้ไม่ได้  หรือพื้นที่ข้างๆเหลือตั้งสองเมตรทำไมไม่ทำให้ชิดไปเลย  ก็ถามผู้ออกแบบได้เลยนะครับว่ามันผิดกฏอย่างไร  ดังนั้นเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้พร้อมน่าจะดีที่สุดครับ

5  กิจกรรมที่จะมีภายในบ้าน อันนี้ก็จะเหมือนข้อ 2 ครับไม่ต้องอธิบายมากมาย

6  ทำใจครับเพราะการออกแบบอาจไม่ได้มา 100%กับที่ใจอยากได้  แต่ก็ต้องทำใจรับเอาให้ได้ใกล้เคยงมากที่สุดเพราะทุกอย่างในโลกนี้มันไม่เพอร์เฟ็ค  100%  แน่นอนครับผม

วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนครับไว้วันหลังมาต่อ  ฝั่งผู้ออกแบบบ้างแล้วกันนะครับอย่าลืมติดตามนะครับเพื่อการสื่อสารที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น