วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การต่อเติมบ้าน เรื่องง่ายที่ต้องคิดหลายตลบ

เล่าย้อนกลับไปสมัยเรียนชั้น ปวส.ก่อสร้าง ที่วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี นับเป็นช่วงที่ประเทศไทยตื่นเรื่องการต่อเติมมากเพราะเหตุการตึกถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา ที่น่าจะมีสาเหตุครั้งนั้นจากการต่อเติมตัวอาคาร  ดังนั้นในการเรียนการสอนของแผนกจึงเน้นย้ำเรื่องนี้กันเป็นพิเศษ  อาจารย์คมกริดบอกเอาไว้ว่า คนไทยนอกจากลืมง่ายแล้วยังมักง่ายอีก  ดังนั้นเราเป็นช่างเป็นคนสร้างจงจำไว้ว่าอย่ามักง่ายเพราะผลที่มันตามมาจะไม่ง่ายอย่างที่เราทำ

วันนี้จึงขอเอาข้อคิดเล็กๆน้อยที่ควรคิดมากๆ  เมื่อต้องต่อเติมตัวอาคารหรือบ้านพักอาศัย  เพราะอย่างน้อยสิ่งนี้ก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยกับผู้ที่จะทำการต่อเติมตัวบ้าน  ดีกว่าเก็บไว้กับตัวแล้วตายจากไปกับความรู้เหล่านี้



การต่อเติมตัวอาคารหรือตัวบ้านนั้น มีข้อกำหนดและพรบ.ที่ใช้ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมดังนั้นผู้ที่จะทำการต่อเติมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยื่นแบบการต่อเติมอาคาร  ต่อสำนักงานเขตท้องที่ ที่รับผิดชอบโดยรายละเอียดของเอกสารที่สำคัญในการยื่นแบบมีดังนี้


ในเขตกรุงเทพมหานครฯ.
การยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้างอาคารในกรุงเทพ ฯ สามารถยื่นขอได้ที่
1. ณ ที่ว่าการเขตท้องที่ที่สถานที่ทำการก่อสร้างอาคารขึ้นอยู่โดยจะต้องเป็น อาคารพักอาศัย อาคารตึกแถว หอพัก แฟลต อาคารชุด สำนักงาน โกดัง ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม ห้องแสดงสินค้า อาคารพาณิชย์ ทั้งนี้เฉพาะที่สูงไม่เกิน 4 ชั้น และอาคารเลี้ยงสัตว์ อาคารชั่วคราว สะพานไม้ เขื่อน หอถังเก็บน้ำ รั้ว ป้าย แผงลอย และถนน

2. ณ กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา อาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารอื่นใดนอกจากข้อ 1


สำหรับต่างจังหวัด
การยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้างอาคารในต่างจังหวัด สามารถยื่นขอได้ที่
1. ในเขตเทศบาล ให้ยื่น ณ ที่ทำการเทศบาล สำนักการช่าง ของแต่ละพื้นที่

2. นอกเขตเทศบาลให้ยื่นกับหน่วยงานบริการของแต่ละพื้นที่ เช่น อบต.
การขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน-อาคาร

หลักฐานการขออนุญาต
- หนังสือขออนุญาตปลูกสร้าง ( ขอรับได้ที่สำนักการช่าง หรือหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ )
- สำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดิน /น.ร.3 / สด. (กรณีที่ติดจำนองให้ผู้รับจำนองยินยอมด้วย)
- หนังสือยินยอมของเจ้าของที่ดิน (กรณีเจ้าของอาคารก่อสร้างในที่ดินของผู้อื่น)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน
- แบบแปลนแผนผังและรายการประกอบแบบ รายการคำนวณ 1 ชุด กรณีพื้นที่อาคารทั้งหมดเกิน 150 ตรม.
- หนังสือยินยอมเจ้าของที่ดินข้างเคียง ในกรณีใช้ผนังร่วมกัน พร้อมสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวระชาชน และสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดิน
- หนังสือรับรองผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม กรณีพื้นที่อาคารทั้งหมดเกิน 150 ตรม.
- หนังสือรับรองของผู้ควบคุมงาน ถ้าเป็นบ้านพักอาศัยเจ้าของบ้านสามารถเซ็นรับรองเองได้
- หนังสือมอบอำนาจในกรณีให้ผู้อื่นดำเนินการแทน
- สำเนาเอกสารต้องมีลายเซ็น ชื่อเจ้าของบ้านกำกับทุกแผ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น